ย้อนกลับไปในอดีตของ DJIA ราวปี ค.ศ.1883 Charles Dow และ Edward Jones ได้ตั้งสำนักข่าวของตัวเอง ในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้เริ่มเผยแพร่ดัชนีหุ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Dow Jones Average ( DJA ) ที่นำมาจากชื่อของผู้ก่อตั้งทั้งสองท่าน โดยดัชนี DJA นั้นทำการคำนวณจากหุ้นที่เกี่ยวกับการรถไฟที่เป็นธุรกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่อยู่ในช่วงสร้างประเทศใหม่ จำนวน 9 บริษัทและหุ้นอื่นๆ อีก 2 บริษัท ซึ่งดัชนี DJA ได้ทำให้สิ่งพิมพ์ของสำนักข่าวนี้ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลทางการเงินที่สำคัญสำหรับผู้ลงทุน จนภายหลังได้กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ( WSJ ) ที่หลายท่านน่าจะคุ้นเคยในทุกวันนี้
หลังจากที่มีการเผยแพร่ดัชนี DJA ไปแล้วระยะหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ บริษัทจำนวนมากล้มละลายและเกิดการควบรวมกิจการในหลายบริษัท ทำให้ดัชนี DJA ไม่สามารถสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงนำไปสู่การพัฒนาดัชนีใหม่ นั่นก็คือ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ หรือ DJIA ซึ่งถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1896 โดยดัชนี DJIA ที่เปิดตัวในตอนนั้น ประกอบไปด้วยหุ้น 12 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถไฟ เช่น ยาง บุหรี่ น้ำตาล รวมถึงบริษัท General Electric ( GE ) อีกด้วย ทั้งนี้ ดัชนี DJIA ได้รับการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มจำนวนหุ้นจาก 12 บริษัทมาเป็น 30 บริษัทในปี 1928 และมีการเปลี่ยนรายชื่อบริษัทที่เป็นองค์ประกอบเข้าออกจากดัชนีตามความเหมาะสมโดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ในปัจจุบันหุ้นที่เป็นองค์ประกอบเริ่มต้นทั้ง 12 บริษัทได้ถูกถอดออกจากดัชนี DJIA แล้ว และมีบริษัท GE เพียงบริษัทเดียวที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ได้ล้มละลายหรือถูกควบรวมกิจการไปแล้วทั้งหมด (ข้อมูลจาก S & P Global)
ปัจจุบันดัชนี DJIA อยู่ที่ระดับประมาณ 34,400 จุด โดยมีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ราว 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ขณะที่ SET50 Index มีมูลค่าตลาดราว 0.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งรายชื่อบริษัทในดัชนี DJIA ส่วนใหญ่เป็นหุ้น Blue Chip ในกลุ่มเทคโนโลยีและการเงินที่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาทิ Microsoft, Goldman Sachs, Nike รวมถึง Apple ที่เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าตลาดราว 20% ของดัชนี โดยมีบริษัท Saleforce.com ที่เป็นบริษัทผู้พัฒนา Software เป็นสมาชิกรายล่าสุดที่เพิ่งจะได้เข้ามาอยู่ในดัชนี DJIA เมื่อเดือนสิงหาคม 2020
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ DJIA คำนวณด้วยวิธี Price Weighted Index พูดง่ายๆคือค่าเฉลี่ยที่เกิดจากการคำนวณโดยรวมราคาหุ้นทุกตัวในดัชนีแล้วหารด้วยตัวเลขหนึ่งที่เรียกว่า divisor ซึ่งจะเป็นตัวเลขมีการปรับสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงกับหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งจากโครงสร้างวิธีการคำนวณจะเห็นได้ว่าในดัชนีประเภทนี้ การเปลี่ยนแปลงของหุ้นที่มีราคาสูงจะมีผลกระทบกับดัชนีมากกว่า ไม่ใช่ขนาดของบริษัท ซึ่งแนวคิดนี้จะต่างจากดัชนีหุ้นส่วนใหญ่ เช่น S & P 500 เป็นต้น รวมถึงดัชนี SET Index ของประเทศไทยที่เป็นคำนวณด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap Weight) ที่จะให้น้ำหนักกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากกว่า ข้อสังเกตหนึ่ง จากแนวคิดการคำนวณดัชนีแบบ DJIA นั้น จะเห็นว่าหุ้น Blue Chip บางตัวที่แม้ว่าจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ดีแต่มีราคาต่อหุ้นสูง มีแนวโน้มไม่ถูกนำเข้ามารวมอยู่ในดัชนี เช่น หุ้น Berkshire Hathaway A ของ Warren Buffet ที่มีราคากว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหุ้นดังกล่าวเพียงหุ้นเดียวจะมีผลต่อดัชนีอย่างมาก
เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับดัชนีหุ้น นั่นก็เพราะว่า ดัชนีหุ้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสภาวะของตลาดหุ้นและเป็นตัวชี้นำ (Leading Indicator) ของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การเผยแพร่ดัชนีหุ้นยังเปิดโอกาสให้บริษัททางการเงินสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่อ้างอิงกับดัชนีในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม, ETF หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการเลือกเครื่องมือลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยในปัจจุบัน ผู้ลงทุนไทยที่สนใจลงทุนหุ้นประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านตลาดทุนไทยได้ในหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม หรือตราสารทางการเงินอื่นๆ เช่น Derivative Warrants หรือ DW ที่อ้างอิงกับดัชนี DJIA โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.settrade.com
บทความที่เกี่ยวข้อง