ปี 2568 ตลาดเกมจะมีมูลค่าอยู่ที่ 36,100 ล้านบาท ขยายตัว 1.6% จากปี 2567 ปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนผู้เล่นเกมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดตัวเกมใหม่และการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้ให้บริการเกม การจัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (E-Sports) ที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมให้เติบโตและช่วยดึงดูดผู้เล่นใหม่ อย่างไรก็ดี จำนวนบัญชีผู้เล่นเกมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลง ในปี 2568 คาดจำนวนบัญชีผู้เล่นเกมจะเติบโต 1.2% จากปี 2567 และภาวะปัจจัยเศษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบต่อการใช้จ่ายการซื้อเกมและไอเทมในเกมของผู้เล่นบางกลุ่ม ส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดเกมชะลอลงจากปี 2567 ซึ่งโต 3.6%
มูลค่าตลาดเกมกว่า 97.8% มาจากธุรกิจจัดจำหน่าย นำเข้าและดูแลลิขสิทธิ์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการใช้จ่ายในเกมต่างประเทศ ขณะที่เกมส่วนใหญ่ที่ผลิตโดยบริษัทไทยรายได้ยังต่ำ โดยธุรกิจการพัฒนาและผลิตเกมที่มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (IP Owner) ซึ่งเป็นการผลิตโดยบริษัทคนไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.9% ของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด และธุรกิจรับจ้างผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทอื่น มีเพียง 0.3% ของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด
ไปข้างหน้าบริษัทผู้พัฒนาเกมของไทยเจอกับความท้าทายที่สูงขึ้น เนื่องจากการแข่งขันสูง จากบริษัทเกมต่างประเทศ การใช้ Generative AI ในการพัฒนาเกม ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและข้อจำกัดของแหล่งเงินลงทุน อีกทั้งเกมของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกมทั่วไป มีข้อจำกัดในการสร้างรายได้และวงจรชีวิต (Life cycle) ของเกมที่สั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง