ในการจัดพอร์ตลงทุน การกำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในการลงทุน หรือที่เรียกว่า asset allocation นั้นนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ นี้ มักแตกต่างกันไปตามที่แต่ละบุคคลจะสามารถรับความเสี่ยงได้และสภาพการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปพอร์ตการลงทุนมักประกอบด้วยสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่มากแต่ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ investment grade เป็นต้น และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น ทองคำ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องมีการทบทวนสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตและปรับเปลี่ยนพอร์ตเพื่อให้มั่นใจว่ายังมีความเหมาะสมกับทั้งความสามารถในการรับความเสี่ยงและสภาพการณ์ตลาด
สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป การลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนนั้น สินทรัพย์ที่ควรพิจารณาลงทุนคือ พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารที่ออกและค้ำประกันโดยรัฐบาลว่าจะได้เงินต้นคืนเต็มจำนวนเมื่อถือจนครบอายุ นับเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยมากหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสินทรัพย์ไร้ความเสี่ยง (Risk-Free Asset) โดยพันธบัตรรัฐบาลมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พันธบัตรรัฐบาลทั่วไปหรือ Loan Bond (LB) ซึ่งผู้มีสิทธิจองซื้อคือสถาบันการเงิน รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ และพันธบัตรออมทรัพย์ หรือ Savings Bond (SB) ซึ่งผู้มีสิทธิจองซื้อได้คือบุคคลทั่วไปและองค์กรไม่แสวงหากำไร ทั้งนี้ โดยปกติแล้วพันธบัตรออมทรัพย์จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด ด้วยเหตุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมการออมของประชาชน พันธบัตรออมทรัพย์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการจัดสรรการลงทุนไปในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมั่นคง
ในปัจจุบัน การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์สามารถซื้อได้ผ่านธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนจำหน่าย หรืออีกช่องทางหนึ่งก็คือการซื้อผ่านวอลเล็ต สบม. ในแอปพลิเคชันเป๋าตังสำหรับธนบัตรบางรุ่น ทั้งนี้ พันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารระยะยาว ในแต่ละรุ่นที่ออกจำหน่ายก็จะมีอายุที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี ที่ผ่านมาผู้ลงทุนมักนิยมลงทุนในพันธบัตรเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยซึ่งจ่ายให้สม่ำเสมอ และรับเงินต้นคืนตามราคาหน้าตั๋ว (Par Value) เมื่อครบอายุ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องการใช้เงินสดหรือต้องการสภาพคล่อง ผู้ลงทุนสามารถขายพันธบัตรรัฐออมทรัพย์ที่ถืออยู่ผ่านช่องทางที่ตนเองจองซื้อมาได้ เช่น ขายพันธบัตรคืนที่ธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวกับที่จองซื้อมา ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ใน mobile application ของธนาคารที่ผู้ลงทุนนั้นใช้งาน
ทั้งนี้ ในการขายคืนพันธบัตรก่อนครบกำหนดอายุ มีความเป็นได้ว่าราคาที่ขายได้จะไม่เท่ากับราคาหน้าตั๋ว โดยอาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในตลาดหรือ market yield ณ ขณะนั้นๆ โดยหาก ณ ตอนขาย อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร ราคาขายคืนก็อาจสูงกว่าราคาหน้าตั๋ว เพราะพันธบัตรนี้ให้ผลตอบแทนดีกว่าท้องตลาด แต่หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร ราคาขายคืนก็อาจต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนถือพันธบัตรจนถึงวันครบกำหนด ก็จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนตามราคาหน้าตั๋วเสมอ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง โดยมีแผนที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถจองซื้อและซื้อขายเปลี่ยนมือพันธบัตรออมทรัพย์ได้ผ่านบัญชีหุ้นเหมือนกับการซื้อขายหลักทรัพย์อื่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงพันธบัตรได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้นและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้บัญชีหุ้นในการซื้อขายสินทรัพย์ได้อย่างหลากหลาย ช่วยให้การบริหารพอร์ตลงทุนทำได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ
บทความที่เกี่ยวข้อง