PVD ถอนเมื่อพร้อม ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างที่ฝัน
วิภา เจริญกิจสุพัฒน นักวางแผนการเงิน CFP®
ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจึงทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม 2567 จากเว็บไซต์ “สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร” แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรวัยใกล้เกษียณมีจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น สถานการณ์นี้ส่งผลให้แหล่งเงินหลังเกษียณที่พึ่งพาภาษีหรือเงินออมจากวัยทำงานอาจไม่เพียงพอในอนาคต ดังนั้น การบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นคงและเป็นไปตามที่ฝันไว้
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำคัญต่อวัยเกษียณอย่างไร
แหล่งเงินได้ที่ให้ความมั่นใจได้ ไม่ว่าจำนวนประชากรทำงานจะลดลงเท่าไรก็ตาม คือ แหล่งเงินได้ที่มาจากการออมจากเงินของตัวเองในวัยทำงาน และเป็นเงินออมที่ไม่ขึ้นกับจำนวนประชากรวัยทำงาน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ ฯลฯ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) คือ กองทุนภาคสมัครใจที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุงานแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่นายจ้างมีให้ลูกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะเป็นสมาชิกกองทุนหรือไม่ก็ได้
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเงินที่พนักงานหัก “เงินสะสม” 2 - 15% ของเงินเดือน และนายจ้างเติมเงิน “สมทบ” 2%-15% ของเงินเดือน นำไปบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
จุดเด่นของการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตัวอย่าง นายตื่นรู้ พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 25 ปี ต้องการเตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ตั้งแต่อายุ 60 – 85 ปี เดือนละ 20,000 บาท อัตราเงินเฟ้อ 3% ลงทุนในพอร์ตหลังเกษียณผลตอบแทนหลังหักภาษีแล้ว 2% เป้าหมายเงินเกษียณ ที่ต้องมีคือ19,888,984 บาท
นายตื่นรู้เริ่มเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเงินเดือน 25,000 บาท อัตราการเพิ่มของเงินเดือนเฉลี่ย 5% ต่อปี สะสม 15% ของเงินเดือน ถึงอายุ 60 ปี นายจ้างสมทบ 5% เลือกนโยบายความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี
เงินสะสมหักจากเงินเดือนนายตื่นรู้ถึงอายุ 60 ปี เป็นเงิน 4,064,414 บาท และเงินสมทบนายจ้างเป็นเงิน 1,354,804 บาท รวมเป็นเงินต้นทั้งหมด 5,419,218 บาท
เงินสะสม สมทบและผลประโยชน์จากการลงทุนได้เงินประมาณ 9,737,001 บาท ขาดอีก 10 ล้านบาท สามารถออมเพิ่ม 20% ของรายได้ ในประกันบำนาญ RMF หรือแหล่งออมอื่น ๆ (ออม 35% ของรายได้ เท่ากับอัตราค่างวดผ่อนบ้านต่อรายได้ ที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อบ้าน ถ้าเชื่อว่าผ่อนบ้านอัตรานี้ได้ ก็สามารถออมได้)
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถอนได้โดยไม่ติดเงื่อนไขเมื่อไร
เป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะถอนโดยไม่ติดเงื่อนไขภาษี กรณีถอนก่อน มี 2 ลักษณะคือ เป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี หรือเป็นสมาชิกเกิน 5 ปี และถอนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์
จำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษี คือ ส่วนนายจ้างสมทบและผลประโยชน์ทั้งหมด
หากมีความจำเป็นต้องออกจากการเป็นสมาชิกก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เช่น ออกจากงาน ไม่ต้องการผิดเงื่อนไข มีทางเลือก 2 วิธี
ทางเลือกวัยเกษียณในการถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้
หลังเกษียณจำเป็นต้องจดค่าใช้จ่าย และทำงบประมาณรายรับรายจ่ายใหม่ เนื่องจากโครงสร้างรายจ่ายเปลี่ยน และยังคงต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ ทยอยถอนต้นปีเท่ากับค่าใช้จ่ายในปีนั้น คงเงินไว้ในพอร์ตลงทุนมีวิธีบริหารจัดการหลายวิธี เช่น
ช่วงที่ 1 หลังเกษียณเริ่มถอนเงินจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำก่อน
ช่วงที่ 2 ปรับพอร์ต 2 เป็นความเสี่ยงต่ำ และพอร์ตที่ 2 3 เป็นความเสี่ยงปานกลาง ถอนเงินจากพอร์ตที่ 2
ช่วงที่ 3 ปรับพอร์ต 3 เป็นความเสี่ยงต่ำ ถอนเงินจากพอร์ตที่ 3
หลายคนที่มีประสบการณ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเห็นว่าเงินออมก้อนนี้เป็นเงินออมก้อนใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเงินอ้อมก้อนอื่น ๆ เพราะเก็บอย่างเป็นระบบ เก็บแล้วเก็บเลย เก็บเพื่อเก็บ
การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือการออมที่มีประสิทธิผล สะดวก ง่าย และปลอดภัย นายจ้างช่วยเติมเงินสมทบ เงินออมเพิ่มตามรายได้ มีบลจ.ช่วยบริหารเงินให้เติบโต ปลอดภัยโดยโครงสร้างการบริหารจัดการ ช่วยให้ผู้มีรายได้ให้เวลากับการทำงานและครอบครัวได้อย่างสบายใจ และสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างที่ฝัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ใช้โปรแกรมคำนวณ “วางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund:PVD) คืออะไร, ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th
บทความที่เกี่ยวข้อง