ช่วงเวลาปลายปีถือเป็นโค้งสุดท้ายในการวางแผนภาษีสำหรับผู้เสียภาษีทุกคน โดยหากยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วน ช่วงเวลาที่เหลือนี้ก็ยังสามารถวางแผนหาวิธีในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ สำหรับเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีคือ ประกันชีวิต กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2566 ได้มีทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามา คือ “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ กองทุน Thai ESG” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐและตลาดทุนที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนของประเทศ
กองทุน Thai ESG มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอื่นๆ ตรงที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีความโดดเด่นเรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) หรือธรรมาภิบาล (governance) หรือการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวของการลงทุน
โดยที่ในปีนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกองทุน Thai ESG เพิ่มเติม โดยได้เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดเป็น 300,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท พร้อมทั้งลดระยะเวลาถือครองเหลือเพียง 5 ปี จากปกติ 8 ปี สำหรับการลงทุนในช่วงปี 2567-2569 โดยการลงทุนในกองทุน Thai ESG จะไม่ถูกนำไปนับรวมร่วมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ซึ่งกำหนดวงเงินลดหย่อนไว้สูงสุด 500,000 บาท ทำให้ในปีนี้จนถึงปี 2569 ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออมและการลงทุนรวมกันได้ถึง 800,000 บาท ด้วยลักษณะและเงื่อนไขของกองทุนที่กล่าวมา กองทุน Thai ESG เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนระยะปานกลาง ด้วยมีระยะเวลาการถือครองสั้นกว่ากองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF ที่มีระยะเวลาเวลาถือครองยาว 10 ปี หรือถ้าเป็นกองทุน RMF ก็จะต้องถือครองไปจนถึงอายุ 55 ปี ที่สำคัญคือ การแยกวงเงินลงทุนของกองทุนนี้ออกจากกองทุนเกษียณอื่นๆ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น
สำหรับกองทุน Thai ESG ที่มีอยู่ในตอนนี้ถือได้ว่ามีให้เลือกอย่างหลากหลาย ทั้งในด้านประเภทหลักทรัพย์ที่มีทั้งกองทุนตราสารทุน กองทุนผสม และกองทุนตราสารหนี้ ด้านสไตล์การลงทุนที่มีทั้งกองทุนที่บริหารแบบเชิงรับ (Passive) และที่บริหารแบบเชิงรุก (Active) ส่วนในด้านนโยบายการจ่ายเงินปันผลก็มีให้เลือกทั้งกองทุนที่จ่ายและไม่จ่ายปันผล โดยผู้ลงทุนควรพิจารณา นโยบายการลงทุน ระดับความเสี่ยงของกองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ค่าธรรมเนียม รวมถึงข้อมูลสำคัญอื่นๆ ของกองทุนประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนที่เลือกมีแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง
การลงทุนในกองทุน Thai ESG นอกจากจะช่วยวางแผนภาษีและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ตนเองในอนาคตแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกไปพร้อมกัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน Thai ESG ได้ที่ www.thailandesg.com
บทความที่เกี่ยวข้อง