5 เคล็ดลับสร้างแผนประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ

โดย ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์, CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย PLAN WELL TO LIVE WELL

5 เคล็ดลับสร้างแผนประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ

โดย ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์, CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย PLAN WELL TO LIVE WELL
5 trick

 

5 เคล็ดลับสร้างแผนประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ

ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงษ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ณรง

ปัจจุบันคงต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทยว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะจากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่าไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 13,064,929 คน  คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม และเมื่อระบุเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน จะคิดเป็น 14% ของประชากรรวม ทำให้เรื่องของความเป็นอยู่ และการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีแผนการจัดการเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการป้องกันและรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมของสายตาที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินหรือการหยิบสิ่งของที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว

 

ข้อมูลเพิ่มเติม จากกรมควบคุมโรค ในแต่ละปีจะพบอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้มประมาณ 3 ล้านราย และบาดเจ็บต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย วันละ 4 ราย และยังเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม และต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการวางแผนประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุประกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ดังนี้

 

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุสูงขึ้น เช่น การลื่นล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุในบ้าน เนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย ประกันอุบัติเหตุสามารถช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

 

การลดภาระทางการเงิน การรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุอาจมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่อาจต้องการการดูแลพิเศษ ประกันอุบัติเหตุช่วยลดภาระทางการเงินทั้งของผู้สูงอายุและครอบครัว

 

การชดเชยรายได้ สำหรับผู้สูงอายุที่ยังทำงานหรือมีรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ประกันอุบัติเหตุที่มีค่าชดเชยรายวันจะช่วยชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงที่พักฟื้น

 

ความสบายใจและความมั่นคง การมีประกันอุบัติเหตุทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากรู้ว่ามีความคุ้มครองที่สามารถช่วยเหลือได้ในยามฉุกเฉิน

 

การดูแลที่ครบถ้วน บางแผนประกันอุบัติเหตุอาจครอบคลุมถึงบริการดูแลพิเศษหลังการรักษา เช่น การฟื้นฟูสภาพ หรือการติดตามการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเพิ่มเติมหลังจากประสบอุบัติเหตุ

 

เคล็ดลับสำหรับการพิจารณาเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

อายุ ตรวจสอบช่วงอายุที่ประกันครอบคลุม โดยแต่ละบริษัทจะมีกำหนดช่วงอายุที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ บริษัทจะกำหนดช่วงอายุ รับประกันไว้ถึงไว้ถึง 70 ปี ในขณะที่บางบริษัทกำหนดถึง 99 ปี ซึ่งสามารถทราบข้อมูลจากเอกสาร ตัวแทนผู้นำเสนอขาย หรือรายละเอียดบนเว็บไซต์

 

ความคุ้มครองที่เพียงพอเหมาะสมกับเบี้ยที่ชำระ การเลือกแบบประกันอุบัติเหตุ นอกเหนือจากการชดเชยจากการสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะแล้ว ควรพิจารณาที่มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพร่างกาย และการดูแลหลังการรักษาเพราะเป็นสิ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยควรพิจารณาให้เหมาะสมรายได้และความสามารถในการจ่ายของผู้สูงอายุ

 

พิจารณาเงื่อนไขกรมธรรม์และข้อยกเว้น การศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุมีความสำคัญ เนื่องจากมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ต้องทราบ เช่น ข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย ความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมทันที และขอบเขตของความคุ้มครอง ซึ่งสามารถพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ จากเอกสารเสนอขาย และเอกสารกรมธรรม์

 

เช็กสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่แล้ว ตรวจสอบสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือกรมธรรม์อื่น ๆ ที่เคยซื้อไว้ เพื่อนำมาพิจารณาตัดสินใจก่อนการซื้อประกันอุบัติเหตุผู้สูงอายุ

 

การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เป็นตัวบ่งบอกถึงโอกาสเกิดอุบัติเหตุ หากผู้สูงอายุชอบทำกิจกรรม เช่น เดินไปตลาด หรืออยู่แต่บ้าน การเลือกแผนประกันที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์จะช่วยให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงตามความต้องการ

 

ทั้งนี้ การพิจารณา อาจทำเป็นตารางเปรียบเทียบเพื่อให้ง่ายต่อการทำข้อมูลให้อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน โดยตัวอย่างเป็นการพิจารณาเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุ ของคุณณรงค์ศักดิ์ อายุ 50 ปี เพศชาย ซึ่งมีความต้องการความคุ้มครองชีวิตอยู่ในวงเงินประมาณ 1,000,000 บาท และมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ โดยเพิ่มเติมจากสิทธิการรักษาที่มีอยู่แล้วบ้างบางส่วน จึงหาข้อมูลมาเปรียบเทียบ ดังนี้

 

ข้อมูล

บริษัท ก

บริษัท ข

บริษัท ค (ค่าชดเชยรายวัน)

ประเภทประกัน

ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ค่ารักษาพยาบาล

100,000 บาทต่ออุบัติเหตุ

120,000 บาทต่ออุบัติเหตุ

100,000 บาทต่ออุบัติเหตุ

คุ้มครองชีวิตจากอุบัติเหตุ

1,000,000 บาท

1,200,000 บาท

1,000,000 บาท

ค่าเบี้ยประกันต่อปี

6,000 บาท

7,500 บาท

7,000 บาท

ค่าชดเชยรายวัน

ไม่มี

ไม่มี

1,000 บาทต่อวัน

จุดเด่น

ค่ารักษาพยาบาลสูง

ความคุ้มครองชีวิตสูงสุด

มีค่าชดเชยรายวันสำหรับการนอนโรงพยาบาล

ข้อควรพิจารณา

ค่าเบี้ยประกันปานกลาง

ค่าเบี้ยสูงกว่า

ค่าเบี้ยสูงกว่าบางบริษัท

 

ข้อมูลการเปรียบเทียบที่ได้ นำมาสรุปการพิจารณา ดังนี้

บริษัท ก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่สูง (100,000 บาท) ด้วยค่าเบี้ยประกันที่อยู่ในระดับปานกลาง (6,000 บาทต่อปี)

 

บริษัท ข เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตสูงสุด (1,200,000 บาท) แต่ค่าเบี้ยประกันจะสูงกว่าบริษัทอื่น (7,500 บาทต่อปี)

 

บริษัท ค เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการค่าชดเชยรายวันสำหรับการนอนโรงพยาบาล (1,000 บาทต่อวัน) นอกเหนือจากความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลปกติ (7,000 บาทต่อปี)

 

ทั้งนี้ การเลือกแผนประกันที่เหมาะสม ควรนำข้อมูลการเปรียบเทียบดังกล่าว ไปพิจารณาประกอบกับเคล็ดลับการเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุข้างต้น เพื่อให้ได้แบบประกันที่ครอบคลุมเหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุด

 

ประกันอุบัติเหตุเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงทางการเงินจากการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและเงินเก็บไม่ให้รั่วไหลกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอายุ การมีประกันอุบัติเหตุช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพร่างกาย หรือการชดเชยรายได้ในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ในช่วงพักฟื้น

 

นอกจากนี้ ประกันอุบัติเหตุยังช่วยลดภาระทางการเงินที่อาจตกอยู่กับครอบครัวเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน การวางแผนและมีประกันอุบัติเหตุเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงในชีวิตช่วงบั้นปลาย ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสบายใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน ความสำคัญของประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุจึงไม่ควรถูกมองข้าม เป็นการลงทุนที่มีค่าในอนาคตและความปลอดภัยของชีวิต

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

 


  บทความที่เกี่ยวข้อง