หากเอ่ยถึงประโยค “เก็บเงินเพื่อ เกษียณ” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือสามารถเริ่มต้นเมื่ออายุ 45 ปีก็ยังไม่สาย แต่ความจริงแล้วหากไม่รีบเก็บออมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณอายุ ที่สำคัญเมื่อเริ่มต้นช้าอาจไม่มีเวลาให้แก้ตัวหากผิดพลาดกับการวางแผนการเงิน
ดังนั้น นอกจากจะต้องลงมือเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ต้องรู้ว่าเงินที่ต้องการใช้จ่ายในแต่ละปีอยู่ที่เท่าไร อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้แน่ชัดในตัวเลขจึงต้องอาศัยการประมาณการค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้เตรียมเงินและมีเงินพอใช้หลังเกษียณได้
สำหรับวิธีเบื้องต้นและได้รับความนิยมในการทำให้รู้ว่ามีเงินเพียงพอสำหรับเกษียณ คือ กฎการเงิน 25 เท่า (The Rule of 25) ซึ่งเป็นการประมาณการว่าจะต้องเก็บเงินเท่าไรสำหรับการเกษียณ โดยอิงจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในช่วงเกษียณ ซึ่งคำนวณจากการหาค่าใช้จ่ายรายปีออกมาว่าเป็นจำนวนเท่าใด เริ่มต้นด้วยการหาค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง โดยเพื่อให้สะดวกต่อการคำนวณ ควรจดบันทึกประเภทค่าใช้จ่ายรายเดือนปัจจุบันให้ชัดเจน
ตัวอย่าง
ค่าใช้จ่ายจำเป็น
ค่าใช้จ่ายผันแปร
เมื่อรู้แล้วว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเองเป็นเท่าใดก็สามารถคูณตัวเลขนั้นด้วย 12 เพื่อให้ได้รายได้ต่อปีที่ต้องการในวัยเกษียณ เช่น ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท แสดงว่าค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 360,000 บาท (30,000 x 12) จากนั้นก็คูณด้วย 25 (กฎการเงิน 25 เท่า) จะเท่า 9,000,000 บาท หมายความ ต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนเกษียณประมาณ 9,000,000 บาท สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ
ใช้เงินได้ 30 ปี ด้วยกฎถอนเงิน 4%
คำนวณด้วยกฎการเงิน 25 เท่า มีเงื่อนไขว่าจำนวนเงินที่เตรียมเอาไว้จะสามารถใช้ได้ประมาณ 30 ปีหลังจากเกษียณ เช่น เกษียณอายุ 60 ปี ก็จะใช้ได้ถึงอายุประมาณ 90 ปี และที่สำคัญจะต้องถอนออกมาใช้ต่อปีในอัตราส่วน 4% ของจำนวนเงินทั้งหมด (4% Rule of Thumb) ถึงจะเพียงพอกับแผนการใช้จ่ายที่วางเอาไว้ เช่น ถอนเงิน 4% จากเงิน 6,300,000 บาท จะเท่ากับ 252,000 บาท
อย่างไรก็ตาม โดยความเป็นจริงแล้วทุกคนก็จะนำเงินที่เก็บออมเพื่อเกษียณไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน และเมื่อเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต จึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูงเพื่อเป็นการรักษาเงินต้น ส่วนผลตอบแทนเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งคำว่ารองลงมา หมายความว่า ผลตอบแทนที่ได้ต้องเป็นบวก (ไม่ขาดทุน) หากเป็นไปได้ควรให้ผลตอบแทนระยะยาว เช่น 5 ปีขึ้นไปและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย สินทรัพย์ลงทุนจึงมีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม
ข้อดีของการประมาณจำนวนเงินที่ต้องมีใช้ในวัยเกษียณด้วยกฎ 25 เท่าคือ สะดวกและเข้าใจง่ายต่อการเริ่มต้นการเก็บออมเพื่อการเกษียณ แต่มีข้อจำกัดคือ ยังไม่ได้นำปัจจัยในเรื่องเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่ออำนาจซื้อของเงิน ภาวะตลาดการลงทุน และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่คาดคิดเข้ามาพิจารณาด้วย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th
บทความที่เกี่ยวข้อง