4 รู้ ประกันชดเชยรายได้: ข้อควรรู้ เพิ่มความอุ่นใจในวันที่ไม่คาดฝัน
บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เมื่อเกิดเจ็บป่วยและจำเป็นต้องหยุดงาน และในระหว่างหยุดงานอาจมีค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่าย และรายได้ที่เคยได้รับก็หายไป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนจำต้องทนกับอาการเจ็บป่วยและหวังว่าอาการป่วยจะหายไปเอง แต่หากภาวะเจ็บป่วยมีความรุนแรงมากขึ้นหรือสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่นั้นลุกลามเป็นเรื่องใหญ่
สำหรับผู้ที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายส่วนเกินในการรักษาตัว แม้ว่าจะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล หรือประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีประกันสุขภาพอีกกลุ่มหนึ่งที่จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ผู้เอาประกันระหว่างเข้าอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลอีกอย่างที่เรียกว่า “ประกันชดเชยรายได้”
กลุ่มแรก ได้แก่ เด็ก เยาวชน พ่อบ้าน แม่บ้าน พนักงานวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่วงเงินค่าห้องฯ (ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการโรงพยาบาล) ของประกันสุขภาพกลุ่มค่ารักษาพยาบาลที่ทำไว้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่ใช้บริการในปัจจุบัน เช่น ประกันสุขภาพมีค่าห้องฯ 3,000 บาท แต่โรงพยาบาลที่ใช้บริการนั้นมีราคาค่าห้องฯ 4,000-5,000 บาท ผู้เอาประกันสามารถทำประกันชดเชยรายได้เพิ่มอีก 1,000-2,000 บาท เพื่อชดเชยส่วนเกินของค่าห้องฯ นี้ได้
กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะ ไม่ว่าการรักษาพยาบาลของคนกลุ่มนี้จะเลือกใช้จากสิทธิบัตรทอง สิทธิพิเศษอื่น ๆ หรือประกันสุขภาพส่วนตัว แต่การขาดงานไปหนึ่งวันจะหมายถึงรายได้ที่ต้องสูญเสียไปด้วย ด้วยเหตุนี้การมีประกันชดเชยรายได้จึงเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่หายไปแม้ในยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะการเข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวันหรือเป็นเดือน เพราะค่าใช้จ่ายจะไม่หยุดตามวันที่เจ็บป่วย ยิ่งมีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนาน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เอาประกันมีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 บาท การรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 5 วัน ทำให้ขาดรายได้ 10,000 บาท ซึ่งการเจ็บป่วยแต่ละครั้งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยนั้นมีปัญหาทั้งด้านร่างกายและด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่เสียกำลังใจถ้าได้รับเงินจากการประกันชดเชยรายได้ ก็จะเป็นการช่วยลดความกังวลใจเกี่ยวกับรายได้ที่หายไปและทำให้สบายใจขึ้น
กลุ่มที่ 3 คือ เจ้าของธุรกิจ เป็นกลุ่มที่ทำประกันสุขภาพกลุ่มค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเกือบทั้งหมดแล้ว และแม้ว่าจะมีส่วนต่างของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่การมีประกันชดเชยรายได้ก็ช่วยให้ดีต่อใจและเพิ่มความสะดวกสบายได้มากขึ้น ซึ่งอาจนำมาใช้ในการอัพเกรดค่าห้องพัก ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทางของผู้มาดูแล เป็นต้น
การทำประกันชดเชยรายได้ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากภาวะเจ็บป่วยเมื่อต้องเข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกสบายระหว่างการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันรู้สึกอุ่นใจและสบายใจ และยังมีรายได้ชดเชยระหว่างเจ็บป่วยด้วย ดังนั้นการเพิ่มสัญญาประกันชดเชยรายได้ในประกันสุขภาพจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้เอาประกันทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น แต่ทั้งนี้ผู้ชำระเบี้ยประกันจะต้องบริหารจัดการเงินของตนเองให้ดี โดยเลือกทำประกันชดเชยรายได้ตามสภาพคล่องทางการเงินของตนเองอย่างเหมาะสม
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th
บทความที่เกี่ยวข้อง