ท้อแท้-สิ้นหวัง

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า

ท้อแท้-สิ้นหวัง

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า
Discouraged and Hopeless

ตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ  ผมคิดว่านักลงทุนจำนวนมากรู้สึก “ท้อแท้” และ  “สิ้นหวัง” เหตุผลในภาพใหญ่อาจจะเป็นเรื่องที่ดัชนีตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีที่ 1,416 จุด  ตกลงมาตลอดจนเหลือ 1,306 จุด ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 หรือลดลงมาประมาณ 7.8% ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งหลังจากปีที่แล้วที่ดัชนีตลาดก็ “แย่ที่สุดในโลก” แบบเดียวกัน  และที่แย่ลงไปอีกก็คือ  หุ้นไทยนั้นตกต่ำลงทั้ง ๆ  ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลัก ๆ  ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างทั่วหน้า  อานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นโดดเด่นในขณะที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาก

          มองจากเหตุผลระยะสั้นแบบเทคนิคก็คือ  หุ้นไทยตกเพราะนักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” หุ้นในตลาดค่อนข้างมาก  และเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้สูงถึงเกือบแสนล้านบาทแล้วในเวลาไม่ถึง 6 เดือน  ซึ่งก็เป็นการขายสุทธิที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ต่างชาติขายเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท  รวมแล้วขายมาแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท

          แต่การขายสุทธิโดยตัวของมันเองก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นจะต้องลงเสมอไป  ตัวอย่างเช่นหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ในช่วงนี้ต่างก็ถูกขายสุทธิเช่นเดียวกัน  แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลง  ว่าที่จริงตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงนี้ก็ถูกขายสุทธิจากต่างชาติหนักมาก  แต่ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 13% นับจากต้นปี  หรืออย่างดัชนีฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงเองก็ปรับตัวขึ้นประมาณ 6% ทั้ง ๆ  ที่มีปัญหาตกลงมาหนักถึงประมาณ 10% ในช่วงต้นปี

 

          การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 7-8% ในเวลาประมาณ 6 เดือนนั้น  ถ้ามองจากสถิติในอดีต  ก็อาจจะบอกว่าไม่ถึงกับรุนแรงมากนัก  และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใคร  “ถอดใจ” และเกิดความ “ท้อแท้”  หรือ “สิ้นหวัง” กับตลาดหุ้น  เหตุผลสำคัญก็คือ  นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยส่วนใหญ่ก็เป็น  “นักเทรด” หรือซื้อขายหุ้นระยะสั้น  ที่สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้แม้ในยามหุ้นตก  กล่าวคือ  ช่วงระยะเวลาที่หุ้นตกนั้น  มักจะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะเด้งหรือดีดตัวขึ้นอาจจะพอ ๆ  กัน  ดังนั้น  พวกเขาก็สามารถช้อนซื้อหุ้นในช่วงหุ้นตกและขายในช่วงที่หุ้นขึ้นทำกำไรได้เสมอ  แต่ในช่วงนี้  ดูเหมือนว่า  ช่วงที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้น  สั้นมาก  บางทีแค่ 2-3 ชั่วโมงในตอนเช้า  โอกาสที่จะทำกำไรน้อย  แต่โอกาสขาดทุนสูง ทำให้หมดกำลังใจที่จะเล่น

          ในส่วนของนักลงทุนระยะยาว “แนว VI” ซึ่งก็มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ขึ้นมาและเน้นการลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการนั้น  ในอดีตแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมอาจจะไม่ดีนัก  แต่ตลอดเวลาก็มีบริษัทหรือหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีหรือมีพัฒนาการหรือสตอรี่ที่ดีที่ทำให้นักลงทุนแห่เข้าไปเล่น  ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นเหนือดัชนีมาก  ทำกำไรให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้เป็นกอบกำ  ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่เข้าไปร่วม  “เก็งกำไร”  ก็สามารถทำกำไรได้ “ทุกวัน”

         แต่ในช่วงเวลานี้  ดูเหมือนว่าหุ้นที่เคยวิ่งกันคึกคักและราคาปรับตัวขึ้น  บางตัวเหมือนติดจรวดเพราะบริษัทมีสตอรี่ที่ดี  มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องมาหลายไตรมาศหรือหลายปีจนทำให้หุ้นมีมูลค่าหรือ Market Cap. สูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐานเพราะหุ้นถูก  “Corner” กลับตกลงมาต่อเนื่องแบบ  “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นลดลงมาเกิน 30%-40% และไม่รู้จะหยุดตกเมื่อไร

          ความหวังของนักลงทุนที่เน้นแนวหุ้นพื้นฐานในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็แทบจะเหลือเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ  ผลประกอบการของบริษัทหรือหุ้นที่ตนเองลงทุนอยู่ที่จะออกมาดีพอที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นให้กลับมาเป็นขาขึ้นใหม่  ความเชื่อของพวกเขาก็คือ  หุ้นเหล่านั้นเป็นหุ้นที่ดีและยังมีโอกาสกลับมาเติบโตใหม่เมื่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโลก  หรือไม่บริษัทก็เก่งขึ้น  สามารถกินส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งได้เพิ่มขึ้น

          ผลประกอบการที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีสำหรับหลาย ๆ  บริษัทนั้น  เรียกว่าแทบจะเป็น “หายนะ” บางบริษัทก็อาจจะมีปัญหาหนี้สินที่เป็นหุ้นกู้ที่อาจจะไม่สามารถชำระได้  ดังนั้นหุ้นก็ถล่มทลายหลังจากที่ทยอยลดลงมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว

          อีกหลาย ๆ บริษัทที่เคยถูกมองถึงว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น  ผลประกอบการออกมา  ไม่ได้หายนะแต่  “น่าผิดหวัง” เพราะนักลงทุนเคยหวังไว้สูงว่าอย่างน้อยกำไรจะต้องโต “สองหลัก” และไม่ลดลง  แต่ผลที่ออกมาก็คือ  การเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด  และก็เป็นการลดลงต่อเนื่องมาอาจจะหลายไตรมาศแล้ว  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ก็ทยอยลดลงมาสอดคล้องกัน  หุ้นมีอาการ “คอร์เนอร์แตก” มาก่อนแล้ว  และดังนั้น  การที่บริษัทก็ยังมีกำไรที่ดีอยู่  เพียงแต่โตช้าลงหรือไม่โต  จึงไม่สามารถที่จะหยุดการตกลงมาของหุ้นได้

          หุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่เป็นเป้าหมายการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินั้น  ประกาศผลประกอบการที่ดีและเติบโตน่าประทับใจมาก  ซึ่งก็ช่วยให้คนที่ลงทุนถืออยู่มีความหวังว่าจะทำให้ราคาหุ้นที่ซบเซามาตลอดนั้นคึกคักขึ้น  เพราะนั่นก็คือความหวังเดียวที่เหลืออยู่  แต่ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่าราคาหุ้นกลับตกลงมาแรง  ความเชื่อที่ว่าผลประกอบการของบริษัทเป็น  “พ่อทุกสถาบัน” ในวงการหุ้น  นั่นคือ  ถ้าผลประกอบการดีมาก  หุ้นจะต้องวิ่งอย่างแรง  ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงในยามนี้

          และถ้าผลประกอบการไม่สามารถที่จะทำให้หุ้นขึ้นได้  หุ้นจะไปได้อย่างไร?  เราจะรออะไรได้อีก!  และทั้งหมดก็คือ  ความท้อแท้-สิ้นหวัง ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้  ซึ่งก็แสดงออกผ่านปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่ลดลงมาเรื่อย ๆ  และผมเชื่อว่าลดลงในทุกกลุ่มตั้งแต่นักเล่นหุ้นรายวันไปจนถึงรายใหญ่และเหล่า VI แม้แต่คนที่ถือยาวแบบไม่คิดจะขาย

          ประเด็นสำคัญก็คือ  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็น “เรื่องชั่วคราว” แค่ไหน  นี่เป็นช่วงเวลา  “ตีสี่” อย่างที่คนพูดกันในวงการหุ้นหรือไม่  ความหมายก็คือ  เป็นเวลาที่ “มืดมิดที่สุด” แต่ก็ “ใกล้ถึงเวลาสว่าง” แล้ว  นักเล่นหุ้น “ระดับเซียน” จะต้องเข้ามาช้อนซื้อหุ้นก่อนเพื่อที่จะทำกำไรงดงามเมื่อถึงวันใหม่ที่ “ฟ้าสดใส”  หุ้นก็จะขึ้นมโหฬารอย่างที่ “ไม่มีใครคาดคิด” หรือไม่

          แต่ส่วนตัวผมเองนั้น  มองว่าปัญหาของหุ้นไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว  แต่เป็นปัญหาถาวรที่เกิดจากโครงสร้างที่แก้ไขยาก  โครงสร้างเหล่านั้น  เดิมทีเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ  แต่แน่นอน  ในขณะที่เราไม่ได้ตระหนักและไม่ได้ปรับโครงสร้างตามที่ควรจะเป็น  ผลก็คือ  เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้  ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นเติบโตไปได้ยาก  และก็จะเป็นแบบนั้นไปยาวนานและไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้อีกเลย

          โครงสร้างแรกที่กำลังส่งผลอย่างรุนแรงและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ  ก็คือเรื่องของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่จำนวนคนเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า  ผลก็คือ  จำนวนคนทำงานสร้างผลผลิตหรือ GDP ลดลง  และจะลดลงไปเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับประสิทธิภาพที่จะลดลงเพราะคนทำงานที่แก่ตัวลงและมีความรู้ทางเทคโนโลยีไม่พอ

          โครงสร้างที่สองก็คือเรื่องของระบบการปกครองประเทศที่จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการนำและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และแนวทางในการบริหารโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศให้สอดคล้องกับยุคสมัย  ในความเห็นผมก็คือ  โครงสร้างที่เป็นอยู่นั้น  น่าจะค่อนข้างล้าสมัยและก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้รวดเร็วพอ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  ระบบของเราไม่สามารถตอบสนองต่อเจตจำนงเสรีของประชาชนที่แท้จริงได้เพียงพอ และรัฐบาลก็ไม่สามารถมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงนั้น  และทั้งสองอย่างนั้น  เปลี่ยนยากมาก

          โครงสร้างที่สามก็คือ โครงสร้างของบริษัทซึ่งก็เป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจ  ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยุคเก่าหรือยุคปัจจุบันที่กำลังอิ่มตัว  บริษัทใหญ่ ๆ  ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มีการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสร้างเอสเคิร์บหรือการเติบโตใหม่ ๆ ขึ้น  หรือพยายามก็ยังไม่สำเร็จ  ในขณะที่คู่แข่งซึ่งก็คือ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เคยเป็นรองไทยในอุตสาหกรรมรุ่นเก่า  ขณะนี้กลับนำไทยในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

          ข้อสรุปก็คือ  โครงสร้างที่เป็นเสาหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเรานั้น  เริ่มเสื่อมโทรมลงมาอย่างรวดเร็ว  อาจจะประมาณ 10-15 ปีมาแล้ว  การรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วแทบจะทำให้การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างโดยเฉพาะทางการเมืองสะดุดหยุดลงอย่างสิ้นเชิง  สิ่งที่ยิ่งน่าห่วงก็คือ  การเสื่อมลงนั้นยังไม่หยุดและอาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในด้านของประชากรที่ทัศนคติของคนไทยเปลี่ยนไปมากในแง่ที่ไม่อยากมีลูก  ซึ่งก็อาจจะส่งผลไปถึงการลดลงของแรงขับดันที่จะสร้างอนาคต  และจบลงที่การขาดความฝันและความหวังที่จะสร้างตัวหรือความมั่งคั่งให้กับตนเอง  และนั่นก็คือ  การจบลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

          และแม้ว่ามุมมองทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะไม่ดีเลย  แต่ราคาหุ้นของไทยก็ยังไม่ถูกพอแบบในตลาดหุ้นจีน  ดังนั้น  เหตุผลของการซื้อหุ้นไทยจึงน่าจะมีน้อยมาก  โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่มีโอกาสเลือก  และนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขาขายหุ้นไทยมาตลอด  และก็คงจะยังขายต่อไป

 


  บทความที่เกี่ยวข้อง