เทคนิคการขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่านง่ายดาย

โดย กิตติภัต แสงประดับ CFP®,IP

เทคนิคการขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่านง่ายดาย

โดย กิตติภัต แสงประดับ CFP®,IP
CFP_Feb_ST_0221

 

เทคนิคการขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่านง่ายดาย

กิตติภัต แสงประดับ CFP®,IP

กิต

หลายคนอาจมีประสบการณ์ในการขอสินเชื่อจากธนาคาร มีทั้งสมหวัง และผิดหวัง จนมีข้อสงสัยว่า ทำไมการขอสินเชื่อถึงได้ยุ่งยากมากนัก เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ตั้งคำถามมากมาย ทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัว อย่างไรก็ตามการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร จะมีหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ เรียกว่า 5C3P

หลักเกณฑ์การวิเคราะห์สินเชื่อด้วย 5 C เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานเบื้องต้นที่จะใช้ในการวิเคราะห์ โดยใช้หลักในการดู

  1. Character (บุคลิก อุปนิสัย และความตั้งใจจริงของผู้กู้)

จะพิจารณาจากภาพลักษณ์ที่บ่งบอกถึงบุคลิกลักษณะทั่วไป ประวัติการทำงานหรือหน้าที่การงาน ประสบการณ์ การใช้เงินกู้หรือการผ่อนชำระเดิม (ถ้ามี) บางครั้งอาจรวมถึงแนวคิดทางสังคม ซึ่งส่วนมากจะใช้ข้อมูลที่มาจากเครดิตบูโร เป็นสำคัญ

  1. Capacity (ความสามารถในการทำกำไรและการชำระหนี้)

จะดูจากยอดขายหรือแหล่งที่มาของรายได้ เช่น เงินได้จากกิจการ หรือเงินเดือนประจำ ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นถึงความแน่นอนของรายได้ และความสามารถในการทำกำไร จากนั้นถึงเอามาดูกระแสเงินสดสุทธิคงเหลือว่ามีเพียงพอกับการผ่อนชำระหรือไม่ คำแนะนำตามหลักวิชาชีพของนักวางแผนการเงิน ไม่ควรเกิน 45% ของรายได้ ถึงจะแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้คืน ข้อสังเกตรองลงไป หากผู้ขอกู้เป็นเจ้าของกิจการ จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึง เป้าหมายของกิจการและ ศักยภาพในการแข่งขัน ในกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกัน

  1. Capital (เงินทุนของผู้ขอกู้เอง)

จะพิจารณาจากแหล่งเงินสำรอง หรือ สินทรัพย์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ขอกู้ หากกู้เงินก็ต้องแสดงเงินทุนของตัวเองด้วย เช่น ต้องการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านในโครงการมูลค่า 1 ล้านบาท ควรที่จะขอเงินกู้ที่ 7 - 8 แสนบาท ส่วนที่เหลือควรจะเป็นเงินทุนของผู้ขอกู้เอง หรือหากจะขอกู้ในสัดส่วนที่มากกว่านี้ ก็ควรที่จะแสดงแหล่งเงินทุนหรือทรัพย์สินอื่นเข้ามาประกอบการพิจารณา

  1. Collateral (หลักทรัพย์ค้ำประกัน)

หลักประกันเป็นเพียงการช่วยลดความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อป้องกันหนี้มีปัญหาในอนาคต หรือการปล่อยสินเชื่อซ้ำในหลักประกันเดียวกัน สถาบันการเงินจะขอให้มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยจะพิจารณาจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ค้ำประกัน บางครั้งหลักประกันอาจจะหมายรวมถึงการโอนสิทธิรับเงินจากสัญญาจ้างงานเพื่อเป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกัน

5.Condition (สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ)

วิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่เป็นภาพรวมของประเทศ รวมถึงแผนการป้องกันหรือลดความเสี่ยงด้วย โดยทั่วไปจะดูว่าสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วไปเป็นอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

หลักเกณฑ์การวิเคราะห์สินเชื่อด้วย 3 P จะใช้ในการวิเคราะห์ เพิ่มเติม ประกอบไปด้วย

  1. Purpose (วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน)

จะต้องบอกได้ว่าจะนำเงินกู้ไปทำอะไร เกี่ยวกับกิจการหรือไม่ หากเกี่ยวข้องกับกิจการจะช่วยให้กิจการมีกำไรมากขึ้นหรือไม่ วัตถุประสงค์ในการขอเงินกู้ควรเป็นสิ่งที่ดี ไม่ผิดกฎหมายหรือจารีตศีลธรรม และ ไม่มีความเสี่ยงที่สูงเกินไป

  1. Payment (การชำระเงินกู้) เป็นหัวใจการพิจารณาให้สินเชื่อ เป็นการพิจารณาว่ามีความสามารถที่จะชำระหนี้คืน ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเกิดภาวะวิกฤติหรือเศรษฐกิจตกต่ำยังสามารถชำระคืนได้ตามกำหนดหรือไม่ โดยจะประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากพื้นฐานของข้อมูลในปัจจุบัน
  2. Protection (การป้องกันความเสี่ยง) ต้องแสดงให้เห็นถึงมีแผนการป้องกันหากเกิดการผิดพลาดทั้งภายในและภายนอก เช่นมีความสามารถในการเพิ่มทุนหรือเพิ่มหลักประกัน หรือไม่หากเกิดภาระขาดทุนหรือรายได้ไม่เพียงพอติดต่อกัน ซึ่งจะมองจากตัวผู้กู้เอง และมองถึงบุคคลภายนอกที่จะเข้ามารับผิดชอบหนี้สิน

เมื่อทราบถึงหลักเกณฑ์ทั้ง 5C3P แล้ว ให้ลองนำไปวิเคราะห์ตนเองก่อนที่จะไปขอสินเชื่อธนาคารเพื่อหาแนวทางในการตอบคำถามที่ทางเจ้าหน้าที่จะถามเพื่อวิเคราะห์ทั้งสองหลักเกณฑ์ หากได้เตรียมตัวไว้ก่อนตามหลักเกณฑ์ทั้งสอง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขอสินเชื่อ

อ้างอิง   :บทความรอบรู้ธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย

:บทความการวิเคราะห์งบการเงินธนาคารพาณิชย์ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
:กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: สินเชื่อ 5C3P

  บทความที่เกี่ยวข้อง