4 เคล็ดลับ แก้พอร์ตแดง ไปต่อหรือพอแค่นี้

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

4 เคล็ดลับ แก้พอร์ตแดง ไปต่อหรือพอแค่นี้

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
4-เคล็ดลับ-แก้พอร์ตแดง-ไปต่อหรือพอแค่นี้

4 เคล็ดลับ แก้พอร์ตแดง ไปต่อหรือพอแค่นี้

จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

โอ๊ย เปิดดูพอร์ตกองทุนรวมมีแต่ติดลบ ดูกองไหนก็แดง จนอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ไปต่อหรือพอกันที

            ถ้าใครมีอาการแบบนี้ ต้องบอกว่า คุณมีเพื่อนร่วมทางเต็มยอดดอยพอร์ตแดงๆ เพราะในช่วงที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ไม่แน่นอน เช่น เกิดสงคราม มีโรคระบาด หรือภัยพิบัติ ที่ไม่มีใครคาดคิด และส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจหรือกิจการที่กองทุนลงทุนอยู่ ผู้ลงทุนก็มีโอกาสเจอกับพอร์ตติดลบได้

หากย้อนไปเมื่อปี 2565 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง จะขาดทุนมาก เพราะ เวลาผู้คนไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจก็เลือกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หนำซ้ำ ยังมีแรงเทขายเพิ่มอีกจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจของหุ้นน้อยลง พอลงทุนในตราสารหนี้ ที่ว่ากันว่าเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ก็ขาดทุนเหมือนกัน ในช่วงที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว จนทำให้ราคาตราสารหนี้เดิมที่กองทุนถืออยู่ปรับลดลง เพราะให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าตราสารหนี้ที่กำลังจะออกใหม่   

ส่วนในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นผลพวงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา ฉะนั้น โอกาสที่ตลาดจะผันผวนสูงก็มีอยู่ ทางที่ดี ผู้ลงทุนจึงควรเตรียมพร้อมรับมือพอร์ตลงทุนที่มีโอกาสแดงยกพอร์ตได้อีก โดยเรามี 4 เคล็ดลับดีๆ มาแนะนำ

 

1.ทำใจ แล้วอยู่เฉยๆ 

บางคนอาจจะอึ้ง! คิดว่า เราทำได้แค่นี้จริงหรือ ก็ต้องตอบว่า ใช่ ในกรณีที่คุณมองว่า พอร์ตลงทุนของตัวเองจัดสรรสินทรัพย์หลากหลายเพียงพอและมีระดับความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว เป็นพอร์ตที่ออกแบบตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้แต่แรก และเป้าหมายมีเวลาอีก 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป

            เมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนมีโอกาสขาดทุนได้ และการขาดทุน ไม่ได้เกิดจากสินทรัพย์ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ แต่มาจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ แต่สถานการณ์เหล่านี้มาแล้วผ่านไป เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย กลับสู่ภาวะปกติ หากสินทรัพย์นั้นมีคุณภาพ ก็จะฟื้นตัว และมีโอกาสกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีได้ การทำใจร่มๆ อยู่เฉยๆ ก็คือคำตอบ

 

2.ถ้าคิดว่าดี ลงทุนต่อเนื่องไป

            ในกรณีที่เรามั่นใจว่า พอร์ตลงทุนของเรามีการกระจายลงทุนที่ดีแล้ว และระดับความเสี่ยงเหมาะสม กองทุนที่เลือกมาดีอยู่แล้ว แต่ไม่อยากทำใจและอยู่เฉย อีกวิธีที่ทำได้คือ  เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยอาจใช้วิธีการทยอยลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน (Dollar Cost Average : DCA) ก็ได้

            ข้อดีของการทำ DCA คือ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ซื้อกองทุนที่ใช่ในราคาที่ถูกลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์ตลาดโดยรวมดี และเมื่อทยอยลงทุนเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้พอร์ตกองทุนของเรามีต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมลดลง เมื่อเทียบกับการไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ ต้องมั่นใจก่อนว่า กองทุนที่เราเลือกไว้ เป็นกองทุนที่ใช่สำหรับอนาคตจริงๆ

 

3.ถ้าใจบอกไม่ไหว ให้ปรับพอร์ต

            ใครที่กลับมานั่งดูพอร์ตลงทุนตัวเองแล้วพบว่า ที่ฉันเคยคิดว่าจะรับความเสี่ยงสูงไหว เช่น อัดเงินใส่กองทุนหุ้นต่างประเทศไปเต็มข้อ เพราะไหวแหละ แต่พอเจอสถานการณ์จริง ใจหวิว ไม่ไหวเลย แนะนำให้ปรับพอร์ตลงทุน ในที่นี้ อาจไม่ใช่การขายกองทุนรวมที่ขาดทุนหนักๆ ออกมาทันที แต่อาจลองคำนวณสัดส่วนกองทุนรวมที่ถืออยู่ให้ดีว่า ปัจจุบัน เงินของเราอยู่ในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำเท่าไหร่

            สมมติว่าเดิม ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 80% ลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้แค่ 20% แล้วพบว่า พอร์ตผันผวนสูง มีโอกาสขาดทุนสูง เคยคาดว่าจะรับผลขาดทุน -20% หรือ -50% ได้ แต่เจอสถานการณ์จริง แค่ -15% ก็ใจบาง พอ -20% ก็นอนไม่หลับ แนะนำว่า ให้นำเงินใหม่ที่จะลงทุนเพิ่ม ไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนเงินลงทุนโดยรวมที่อยู่ในกองทุนหุ้นน้อยลง ส่วนเงินที่อยู่ในกองทุนรวมความเสี่ยงสูงๆ เมื่อปรับตัวขึ้นมาถึงจุดที่รับได้ ก็อาจโยกย้ายเงินบางส่วนไปอยู่ในกองทุนรวมที่ความเสี่ยงต่ำกว่า   

 

4.ไม่รักกันแล้วก็ตัดใจ แยกย้ายไปหาใหม่

            อาจดูใจร้าย แต่เป็นอีกทางเลือกที่ต้องพูดถึง โดยไม่แนะนำให้ตัดใจขายขาดทุนด้วย “อารมณ์” แต่ควรเป็นการตัดใจด้วย เหตุผล

ถ้าพิจารณาแล้วว่ากองทุนรวมที่ติดลบหนักอาจไม่ได้เป็นเพราะสถานการณ์แวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเพราะผู้จัดการกองทุนเลือกสินทรัพย์ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ หรือนโยบายลงทุนของกองทุนนั้นไม่ตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตเลย มองไปแล้วไม่เห็นทางรอด จนผู้ลงทุนมั่นใจว่าขายออกแล้วขาดทุนหนักตอนนี้จะไม่เสียใจ คำแนะนำให้ตัดใจและขายทิ้ง ก็ดูจะตรงที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจเลือกทางนี้เพื่อไปหากองทุนใหม่ที่ใช่กว่า ผู้ลงทุนต้องพิจารณากองทุนที่จะไปเริ่มต้นใหม่ให้ดีว่ามีนโยบายการลงทุนตอบโจทย์เป้าหมายในอนาคตหรือไม่ มีระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหวจริงหรือเปล่า นอกเหนือจากพิจารณาผลการดำเนินงานในอดีตที่ไม่อาจยืนยันอนาคตได้

สุดท้ายนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ที่ระหว่างทางเรามีโอกาสขาดทุนได้แน่ๆ การคาดหวังให้พอร์ตลงทุนเป็นบวกทุกช่วงเวลา อาจไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแทบเป็นไปไม่ได้ หากเราต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหรือเงินเฟ้อ  ย่อมต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งแน่นอนที่ผู้ลงทุนต้องเจอ ขอเพียงในจุดเริ่มต้นของการลงทุน เราพิจารณาดีแล้วว่า ลงทุนเพื่อเป้าหมายอะไร เป้าหมายนั้นมีระยะเวลานานแค่ไหน แล้วเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย มีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เรารับไหวจริงๆ โดยระหว่างการเดินทางสู่เป้าหมาย อย่าหวั่นไหว มองข้ามช็อตไปให้ถึงปลายทาง แล้วเดินหน้าต่อไป เพียงเท่านี้เราก็อยู่กับพอร์ตแดงๆ ในปัจจุบันได้แบบสบายใจ และมีโอกาสพบผลตอบแทนที่ตรงใจในอนาคตแล้ว…ขอให้ทุกท่านโชคดีในเส้นทางการลงทุน

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

 


  บทความที่เกี่ยวข้อง